ราคาสำหรับค่ารับทำเว็บไซต์ด้วย WordPress ต้นทุนจริงๆ ราคาเท่าไหร่

หนึ่งในคำถามที่ทุกคนมักจะถามนั้นคือ ราคาสำหรับค่ารับทำเว็บไซต์ด้วย WordPress ราคาเท่าไหร่ เพราะว่าซอฟต์แวร์หรือ CMS WordPress นั้นเป็นซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ซที่ฟรีและให้อิสระในการนำไปใช้ในการติดตั้งทำเว็บไซต์ได้ทุกประเภท แล้วค่าใช้จ่ายส่วนอื่นๆที่เกิดขึ้นมาจากอะไรบ้าง ในบทความนี้เราจะมาหาคำตอบกัน และนอกจากนี้เราจะมีวิธีการหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายที่มากเกินไปเพื่อที่จะหาวิธีลดค่าใช้จ่ายเมื่อต้องการสร้างเว็บไซต์

ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่า จุดประสงค์และเป้าหมายในการสร้างเว็บไซต์ของเราคืออะไร แล้วเราจึงไปเลือกใช้เครื่องมือให้เหมาะสมกับเว็บไซต์ที่ต้องการจะทำ เพราะเครื่องมือเหล่านั้นมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น

รับทำเว็บไซต์ด้วย WordPress

ค่าใช้จ่ายสำหรับการทำเว็บไซต์ด้วย WordPress สามารถแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆได้ดังต่อไปนี้:

  • Hosting
  • Domain Name
  • Plugins and Extensions
  • WordPress Theme
  • Web Designer

Hosting เว็บโฮสติ้งที่ให้เช่าโดยทั่วไปนั้นมีหลายแบบเช่น

Shared Hosting เป็นบริการเว็บโฮสติ้งที่เหมาะสำหรับเว็บไซต์ธรรมดาทั่วไป โดยทรัพยากรของเครื่องจะถูกแชร์กับผู้ใช้งานคนอื่นๆหลายๆคน เป็นบริการที่นิยมใช้กันโดยทั่วไปเพราะราคาไม่สูง ข้อดีคือราคาไม่สูงประมาณ 500 – 5,000 บาท ต่อปี ขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่ใช้ เหมาะสำหรับเว็บไซต์ส่วนตัว บริษัทองค์กร ที่มีขนาดเล็ก มีจำนวนผู้เข้าชมไม่มาก

Shared Hosting ยังแยกออกมาเป็น Hosting สำหรับ WordPress โดยเฉพาะ โดยจะถูกปรับแต่งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับ WordPress สูงสุดทั้ง ความเร็ว และ ความแรง รองรับจำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์ได้เป็นจำนวนมาก รองรับเว็บไซต์ WordPress ได้ทุกประเภทไม่ว่าจะเป็น Weblog หรือเว็บสำหรับ E-commerce และราคาก็จะสูงขึ้นมากว่า Shared Hosting ธรรมดา ประมาณ 1,500 – 12,000 บาท ต่อปี

สำหรับเว็บไซต์ของตัวเองผมเลือกใช้บริการ Cloud WordPress Hosting ที่ ruk-com ที่เลือกใช้บริการที่นี่ก็เพราะว่าเห็นมีคนพูดถึงมากมายว่ามีการบริการที่ดี ซึ่งผมได้ใช้มานานพอสมควรแล้วก็เป็นอย่างที่หลายคนพูด ที่สังเกตุได้ชัดคือ Hosting ของ ruk-com เขามี Facebook Group ด้วย การมี Facebook Group มันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือผู้ใช้บริการสามารถพูดคุยกันและแจ้งปัญหาต่างๆ มันสร้างความน่าเชื่อถือให้กับโฮสซึ่งตรงนี้มันก็ทำให้พวกเขาต้องรักษามาตรฐานตัวเองเอาไว้ให้ได้ เพราะหากโฮสบริการไม่ดี มันจะกลายเป็นข้อเสียสำหรับโฮสเอง เพราะหากโฮสมีปัญหามาก หรือมีสมาชิกคนใดคนหนึ่งโพสต์ Complain เข้าไปในกลุ่ม แน่นอนว่าต้องมีคนเห็นเป็นจำนวนมาก เท่าที่สังเกตุปัญหาก็พอมีบ้างแต่ก็เห็นเขาจัดการแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว

ภาพจากกลุ่มเฟซบุ๊ก WordPress Bangkok

สำหรับผู้เริ่มต้นอาจจะเลือกใช้ Cloud Web Hosting ธรรมดาไปก่อน ที่ ruk-com มีราคาสำหรับCloud Web Hosting เริ่มต้นเพียงแค่ 599 บาท ต่อปี หากเว็บไซต์เติบโตขึ้นจำเป็นต้องขยับขยายเว็บไซต์และต้องการใช้งานโฮสที่ให้ประสิทธิภาพสูงสุดก็ค่อยอัพเกรดขึ้นไปเป็น Cloud WordPress Hosting ภายหลังได้

Domain Name โดเมนเนมโดยปกตินามสกุลที่หลายคนนิยมใช้กันมากก็คือ .com ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 500 บาท ต่อปี นามสกุล .co.th ประมาณ 800 บาท ต่อปี นามสกุล .co ที่กำลังเป็นที่นิยม จดครั้งแรกไม่แพง แต่ปีต่ออายุ 1,200 บาท

ผู้ให้บริการโดเมนที่ผมใช้บริการคือ GoDaddy เพราะสะดวกหากเราต้องย้ายเว็บไซต์ไปใช้โฮสของที่อื่น เพียงแค่เปลี่ยน DNS และเวลาต้องเปลี่ยนชื่อเจ้าของเวลาต้องโอนโดเมนให้เป็นกรรมสิทธิ์ของลูกค้าก็ง่าย

Plugins and Extensions ปลั๊กอินเสริมต่างๆ มีปลั๊กอินเสริมจำนวนมากฟรี หากเว็บไซต์เราไม่จำเป็นใช้ใช้งานที่มีฟังก์ชั่นเสริมพิเศษเพิ่มเติม ก็ไม่ต้องจ่ายเงินในส่วนนี้ แต่หากจำเป็นต้องใช้งานเพื่อให้เว็บไซต์ของเรามีฟังก์ชั่นการทำงานของเว็บไซต์ในแบบที่เราต้องการ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องติดตั้ง Premium Plugin เหล่านั้น โดยเฉลี่ยราคาของ Plugin ต่างๆอยู่ที่ 1,000 – 5,000 บาท และ Plugin ส่วนใหญ่ มีค่าต่ออายุรายปี หรือหากไม่มีปลั๊กอินตามฟังก์ชั่นที่เราต้องการจำเป็นจะต้องจ้าง Developer เขียน Plugin ขึ้นมาให้เราโดยเฉพาะ รายจ่ายส่วนนี้อาจจะเพิ่มขึ้นไปอีกเป็นหลักหมื่นขึ้นไป ยิ่งถ้ามี Premium Plugin หลายปลั๊กอินก็ยิ่งจะทำให้จำเป็นต้องจ่ายส่วนนี้มากขึ้น

WordPress Theme  WordPress มี Theme ให้ใช้งานฟรีเป็นจำนวนมาก แต่ Theme ฟรี เหล่านั้นจะมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ เช่นเราไม่สามารถ แก้ไข เปลี่ยนแปลงรูปแบบที่เราต้องการได้ หรือถ้าปรับแต่งได้ก็จะยังจำกัดบางส่วนที่จำเป็น เพราะยังไงผู้ให้บริการ Theme ฟรีเขาก็อยากจะขาย Theme ตัวที่เป็น Premium และเขายังติดเครดิตของเขาไว้ที่ Footer เพื่อจะให้เราช่วยโฆษณาประชาสัมพันธ์ Theme เขาด้วย หากเราสามารถยอมรับสิ่งเหล่านี้ได้ Theme ฟรีก็ไม่มีปัญหา

ส่วนราคา Premium WordPress Theme ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 1,600 – 3,000 บาท ส่วนใหญ่ 1 Licence จะสามารถใช้ได้กับ 1 เว็บไซต์เท่านั้น หากต้องการใช้งานหลายๆเว็บไซต์ ก็ต้องซื้อหลายๆ Licence ตามความต้องการ หรือบาง Theme สามารถใช้งานได้ไม่จำกัดเว็บไซต์ แต่จะมีวันหมดอายุ โดยหลังจากหมดอายุ Theme จะไม่ได้รับการอัพเดท

ข้อสังเกตุ Premium WordPress Theme ส่วนใหญ่จะเป็น Theme แบบ Multi Purpose Theme ที่อัดฟังก์ชั่นต่างๆมากมายเข้ามาอยู่ใน Theme  เพราะต้องการขายให้ตรงกับความต้องการของคนจำนวนมากเพื่อนำไปใช้ทำเว็บไซต์ และฟังก์ชั่นต่างๆ เหล่านี้บางครั้งเราไม่จำเป็นต้องใช้งาน รวมถึงไฟล์ต่างๆเหล่านี้จึงทำให้เว็บไซต์ของเราอืด โหลดช้า ที่สำคัญทำให้เว็บไซต์ของเราไม่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง เพราะดีไซน์อาจจะไปซ้ำกับเว็บไซต์ของคนอื่นได้ หากต้องการเว็บไซต์ที่มีรูปแบบเป็นของเราเองก็จำเป็นต้องจ้าง Web Designer เพื่อออกแบบเว็บไซต์ให้เรา

Web Designer คือผู้ที่ให้บริการออกแบบเว็บไซต์ใหม่ ในแบบที่เราต้องการเพื่อไม่ให้ซ้ำกับรูปแบบเดโมที่ผู้ขาย Theme เป็นผู้กำหนดรูปแบบมาให้ ทำให้เว็บไซต์ของเราให้มีเอกลักษณ์ และเหมาะสมหรือเข้ากับรูปแบบธุรกิจของเรา คิดว่า Designer ทุกคนคงไม่อัดอะไรที่ไม่จำเป็นใส่เข้าไปในเว็บไซต์ที่ Design เอง เพราะมันเป็นการเพิ่มงานและทำให้เสียเวลา สำหรับราคาค่าแรงของ Designer บางคนอาจจะคิดเป็นงานเหมาเป็นงาน บางคนอาจจะคิดค่าแรงนับเป็นชั่วโมง โดยอาจจะคิดชั่วโมงละ 500-1,500 บาท แล้วแต่ Designer แต่ละคน

Freelance หรือ Web Agency ส่วนใหญ่จะรวมค่าบริการค่าแรงและ Design เข้ามาไว้ด้วยกัน ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับงบประมาณของเราว่าต้องการจะจ้าง Freelance หรือ Web Agency สำหรับ Freelance ค่าบริการอาจจะถูกกว่า Agency มาก แต่ Freelance ก็จะขาดความหลากหลายของผลงาน และขาดความน่าเชื่อถือเป็นเพราะว่าที่ผ่านมามีตัวอย่าง Freelance บางคนที่ได้รับมอบหมายแล้วไม่สำเร็จเป็นต้น แต่ก็มี Freelance ที่ฝีมือดี มีประสบการณ์ และงานสำเร็จ 100% หรือ Agency ที่ราคาไม่แพงมาก ที่สำคัญผู้ว่าจ้างและผู้รับทำเว็บไซต์ต้องพูดคุยตกลงความต้องการ ให้เข้าใจกันให้เรียบร้อยทั้งสองฝ่ายก่อนที่จะจ่ายเงินและเริ่มทำงาน

สรุป เราจะหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายที่มากเกินความจำเป็นได้อย่างไรบ้าง

อย่างที่ให้คำถามไว้ตั้งแต่แรกว่า จุดประสงค์และเป้าหมายในการสร้างเว็บไซต์ของเราคืออะไร เมื่อเรารู้แล้ว ก็จะสามารถกำหนดค่าใช้จ่ายคร่าวๆที่เราต้องการได้ เช่น การเลือกใช้ Hosting แนะนำให้เริ่มต้นด้วยแพคเกจต่ำๆก่อน เมื่อมีผู้เข้าชมเว็บไซต์มากขึ้น หรือเว็บไซต์มีขนาดใหญ่ขึ้น เราค่อยเพิ่มความความสามารถของ Hosting เพิ่มขึ้นภายหลังได้ ขั้นตอนการอัพเกรด Hosting ไม่ได้ยุ่งยากอะไร หรือหากเว็บไซต์ของเรา มีความจำเป็นแค่การนำเสนอข้อมูล เราสามารถเริ่มต้นเว็บไซต์โดยใช้ Plug in และ Theme ฟรี เป็นต้น

สำหรับค่าแรงการทำเว็บไซต์ ลองคำนวนร่วมกับงบประมาณของเราเองว่าตั้งไว้ที่เท่าไหร่ แต่หากเราไปเห็นที่ที่รับทำเว็บไซต์ในราคาถูกมากๆ ต่ำเกินกว่าความเป็นจริง ถูกกว่าราคาซื้อเครื่องมือต่างๆ ที่จะนำมาใช้ทำงานพื้นฐานยังไม่ได้เลย  เป็นไปได้มากว่างานของเราจะไม่เสร็จ หรือถ้าหากค่าทำเว็บไซต์แพงมากๆ เราก็ควรจะรู้ว่าแพงมาจากอะไร และอยากให้เตรียมเงินไว้สำหรับ Logo และ Banner เป็นอีกหนึ่งอย่างที่ไม่ได้ใส่ไว้ในรายละเอียดแต่ก็มีความจำเป็นมาก บทความนี้ผู้อ่านน่าจะได้ไอเดียคร่าวๆ หวังว่าทุกคนจะได้เว็บไซต์ที่พอใจ